วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา


  ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา

            หัวเมืองภาคตะวันออกนับตั้งแต่เมืองชลบุรี เมืองระยอง เมืองจันทบูร และเมืองตราด รวมทั้งเมืองพุทไธมาศ (เมืองสีหนุวิลล์ เดิมเป็นหัวเมืองของไทย) แม้ว่าจะเป็นเมืองสำคัญชายฝั่งทะเลมาตั้งแต่สมัยกรุงเศรีอยุธยาตอนต้น แต่กระนั้นก็ตามไม่ค่อยจะมีเรื่องราวปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารมากนัก เพราะเหตุว่าเป็นเมืองที่สงบสุข ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ ไม่เคยเกิดข้าวยากหมากแพง ส่วนปัญหาด้านการเมืองก็ไม่เคยคิดกบฏต่อราชธานี จึงไม่มีเหตุการณ์สำคัญ หรือเรื่องราวร้ายแรงที่พระราชพงศาวดารจะต้องบันทึกไว้ ฉะนั้นเรื่องราวเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในหัวเมืองภาคตะวันออกจึงค้นพบน้อยมากในเอกสารประวัติศาสตร์ จะพบอยู่บ้างก็กระท่อนกระแท่นไม่ค่อยจะต่อเนื่อง
         เหตุการณ์ด้านประวัติศาสตร์ที่ปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ในพระราชพงศาวดารของหัวเมืองเหล่านี้ เพิ่งปรากฏชัดเจนในสมัยตอนกรุงศรีอยุธยาใกล้จะเสียกรุงครั้งที่สอง เพราะว่าชุมชนหัวเมืองภาคตะวันออกไม่ถูกกองทัพพม่ากวาดต้อนผู้คน บ้านเมืองไม่แตกระส่ำระสาย ส่วนหัวเมืองบริเวณภาคกลางที่ล้อมรอบกรุงศรีอยุธยาถูกกองทหารพม่ากวาดต้อนปล้นสะดม เข่นฆ่าราษฎรตอนที่ล้อมกรุงฯ ฉะนั้นหัวเมืองภาคตะวันออกจึงมีสภาพปรกติสุข เพียบพร้อมด้วยกำลังผู้คน เสบียงอาหาร และศัสตราวุธ เป็นผลให้ผู้นำทัพที่จะกอบกู้อิสระภาพจึงมุ่งที่จะมารวบรวมกำลังซ่องสุมผู้คน และกองทัพในหัวเมืองภาคตะวันออกถึง 2 ท่าน คือ (1) กรมหมื่นเทพพิพิธ เชื้อพระวงศ์ผู้ใหญ่ได้มารวบรวมกองกำลังเมื่อ พ.ศ.2308 ก่อนเสียกรุงฯ (2) พระเจ้าตากสิน สมัยดำรงตำแหน่งพระยาวชิรปราการแม่ทัพ หรือพระยากำแพงเพชร ได้มาซ่องสุมผู้คนในหัวเมืองภาคตะวันออกตอนใกล้จะเสียกรุงฯ กรมหมื่นเทพพิพิธไปซ่องสุมกำลังที่หัวเมืองภาคตะวันออก กรมหมื่นเทพพิพิธ เป็นโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ พระนามเดิมว่า "พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าแขก" เป็นพระเชษฐาต่างพระมารดากับ พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าเอกทัศน์ (พระเจ้าเอกทัศน์) และพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ (พระเจ้าอุทุมพร)
            ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ.2301 กรมหมื่นเทพพิพิธสนับสนุน พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ ซึ่งดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (ตำแหน่งรัชทายาท) ได้ครองราชสมบัติ แต่พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าเอกทัศน์ผู้เป็นพี่รีบลาผนวชออกมา ประจวบกับ พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อรักสงบ ไม่ชอบการขัดแย้งจึงสละราชสมบัติเสด็จออกทรงผนวช กรมหมื่นเทพพิพิธเกรงราชภัยจะถึงตน จึงออกผนวชที่วัดกระโจม แต่กระนั้นก็ตามเมื่อสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ได้ครองราชย์จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระตำรวจทั้งแปดไปจับตัวมาหวังจะประหารชีวิตเสีย แต่ขุนนางกราบบังคมทูลว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ผู้ใหญ่ไม่มีความผิดชัดเจน ไม่ควรประหารในระหว่างทรงพรตในเพศสมณะ จึงสั่งให้จองจำไว้ ครั้นกำปั่นจะไปลังกาทวีปเพื่อส่งพระวิสุทธาจารย์ และพระวรญาณมุนีไปเผยแผ่พุทธศาสนาสยามวงศ์ที่เมืองลังกา จึงให้เนรเทศกรมหมื่นเทพพิพิธไปกับเรือกำปั่นนั้นด้วย กรมหมื่นเทพพิพิธพำนักที่เมืองลังกาได้ 4-5 ปี ต่อมาภายหลังทราบว่ากรุงศรีอยุธยาถูกกองทัพพม่าล้อมอยู่ จึงหาโอกาสหนีกลับมาเมืองไทยอีก ได้โดยสารเรือกำปั่นแขกลูกค้าเมืองเทศมายังเมืองมะริด เมื่อ พ.ศ.2305
           ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2307 กองทัพพม่ายกมาตีเมืองมะริด ตะนาวศรี กรมหมื่นเทพพิพิธจึงหนีมาอาศัยอยู่ที่เมืองเพชรบุรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพร (ลาผนวชมารักษากรุงฯ) ทราบเรื่องราวกรมหมื่นเทพพิพิธตกยากอยู่ที่เพชรบุรี จึงโปรดเกล้าฯ ให้ไปอยู่เมืองจันทบูรในปีเดียวกันนั้น เมื่อกรมหมื่นเทพพิพิธมาอยู่เมืองจันทบูรนั้น ข่าวกองทัพพม่าล้อมกรุงฯ ปล้นสะดมชาวเมืองในหัวเมืองใกล้เคียง และเข่นฆ่าชาวบ้านชาวเมืองล้มตายเป็นจำนวนมาก ผู้คนได้รวมตัวกันเป็นชุมนุมตั้งค่ายป้องกันตัว ดังค่ายบ้านบางระจัน เป็นต้น ชาวหัวเมืองในภาคตะวันออกต่างก็เห็นว่า เชื้อพระวงศ์ผู้ใหญ่ได้มาพำนักที่เมืองจันทบูร ต่างพากันมาสวามิภักดิ์ หวังจะให้เป็นหัวหน้าต่อสู้กองทัพพม่า ซึ่งพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาบันทึกไว้หน้า 146 ว่า "ฝ่ายเจ้ากรมหมื่นเทพพิพิธซึ่งไปอยู่ ณ เมืองจันทบูรนั้น บรรดาคนชาวหัวเมืองทั้งหลาย ฝ่ายตะวันออกชวนกันนับถือ พากันมาสวามิภักดิ์พึ่งบารมีกันอยู่เป็นอันมาก กรมหมื่นเทพพิพิธจึงพาคนทั้งหลายนั้นเข้ามาอยู่ ณ เมืองปราจีนบุรี และคนชาวหัวเมืองนครนายก เมืองปราจีนบุรี เมืองฉะเชิงเทรา เมืองชลบุรี เมืองบางละมุง เลื่องลือกันว่าจะเสด็จยกเข้ารบพม่าช่วยกรุงเทพมหานคร (สมัยโบราณเรียกอยุธยาว่า กรุงเทพมหานคร เช่นเดียวกัน) จึงพากันมาเป็นพวก มาเข้าด้วยเป็นหลายพัน ทูลรับอาสาจะรบพม่า กรมหมื่นเทพพิพิธจึงให้ตั้งค่าย ณ เมืองปราจีนบุรี จึงแต่งให้หมื่นเก้า หมื่นศรีนาวา ชาวเมืองปราจีนบุรี และนายทองอยู่น้อย (พระราชพงศาวดารฉบับบริติชมิวเซียมว่า "นายทองอยู่ นกเล็ก") ชาวเมืองขลบุรี คนทั้งสามนี้เป็นนายซ่องฝีมือเข้มแข็ง ให้เป็นนายทัพหน้าคุมพลชาวหัวเมืองต่างๆ สองพันเศษยกมาตั้งค่าย ณ ปากน้ำโยธกา คนทั้งหลายต่างส่งหนังสือกลับเข้ามาถึงพรรคพวกญาติ ซึ่งอยู่ในกรุงเทพมหานคร คนในกรุงเทพมหานครรู้ก็ยินดี คิดพาครอบครัวหนีจากพระนครออกไปเข้าด้วยกรมหมื่นเทพพิพิธเป็นอันมาก บรรดาหม่อมเจ้าชายหญิงซึ่งเป็นพระหน่อในกรมหมื่นเทพพิพิธ กับทั้งหม่อมห้ามข้าไทก็หนีออกไปหาเจ้า และพระยารัตนาธิเบศนั้นก็พาพรรคพวกหนีออกไปเข้าด้วย ช่วยกันคิดการซึ่งจะทำสงครามกับพม่า" (นายซ่อง คือหัวหน้าซ่องสุมกำลังพล) เหตุการณ์ที่กรมหมื่นเทพพิพิธตั้งค่ายซ่องสุมผู้คนที่เมืองปราจีนบุรีนั้นอยู่ระหว่าง พ.ศ.2308 ซึ่งกองทัพพม่ายังตีกรุงศรีอยุธยาไม่แตก แต่พม่าได้ส่งกองทัพเข้าตีปล้นสะดมหัวเมืองต่างๆ ใกล้เคียงกับกรุงศรีอยุธยา ครั้งแม่ทัพพม่าทราบว่ามีค่ายเจ้านายไทยตั้งอยู่ที่เมืองปราจีนบุรี จึงให้เมฆราโบและกวนจอโบสองนายเป็นแม่ทัพคุมพล 3,000 ยกทัพออกไปตีค่ายที่ปากน้ำโยธกา ต่อสู้กันเป็นสามารถ หักค่ายปากน้ำโยธกา จับตัวหมื่นเก้า หมื่นศรีนาวา ฆ่าเสีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น